รัฐประหาร พ.ศ. 2315 ของ แคโรไลน์_มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่

พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร พระเชษฐาของพระนางมาทิลดา ทรงปฏิเสธคำวิงวอนขอความช่วยเหลือของพระขนิษฐา ทรงปล่อยให้พระขนิษฐาต้องรับความอัปยศ

ในปี พ.ศ. 2314 การเพาะปลูกประสบความแห้งแล้ง พ่อค้าในโคเปนเฮเกนประสบความทุกข์ยากแสนสาหัส เนื่องจากนโยบายของสตรูเอนซีได้เนรเทศขุนนางชั้นสูงที่มีกำลังในการซื้อมากกลับไปยังชนบทเป็นส่วนใหญ่ และเหล่าคณะสงฆ์ได้ออกมาโจมตีว่า ที่บ้านเมืองต้องประสบทุพภิกขภัยอยู่นี้ เป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงขัดเคืองพระทัยกับเรื่องชั่วช้าที่เกิดชึ้นในสถาบันเบื้องสูง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนถึงการก่อจลาจลในไม่ช้า สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรทรงตกพระทัยอย่างมากที่พระนางมาทิลดา พระขนิษฐาของพระองค์มีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่เกลียดชัง พระองค์จึงส่งเจ้าหญิงออกัสตาแห่งแซ็กซ์-ก็อตธา พระมารดาไปอบรมพระนางมาทิลดาที่เดนมาร์ก แต่พระนางมาทิลดากลับระงับการต่อว่าของพระมารดาทันควัน โดยย้อนอ้างถึงลอร์ดบิวท์ ชู้รักของพระมารดา จนทำให้พระมารดาทรงพิโรธประทับรถม้ากลับและไม่เคยตรัสคำพูดใดกับพระธิดาอีกเลย

สมเด็จพระราชินีแคโรไลน์ มาทิลดา ในฉลองพระองค์ทหารแบบบุรษ

เมื่อนางพระกำนัลในพระนางมาทิลดาอ้อนวอนให้พระราชินีไล่สตรูเอนซีไปเสีย พระนางเพียงตรัสตอบว่า

พวกหล่อนน่ะโชคดีมาก ที่ได้แต่งงานกับคนที่พวกหล่อนอยากแต่งด้วย ถ้าข้าเป็นม่ายละก็ ข้าจะแต่งงานกับคนที่ข้ารักและยินดีสละบัลลังก์กับประเทศที่เป็นของข้าเสีย[15]

พระพันปีหลวงจูเลียนาทรงพยายามอย่างหนักเพื่อหาหลักฐานทุกอย่างในการคบชู้ของพระราชินีมาทิลดา ผุ้เป็นพระสุนิสา ทรงจ้างนางพระกำนัลสี่คนของพระนางมทิลดาเพื่อทำหน้าที่สายลับ ได้พบหลักฐานเช่น รอยเปื้อนบนผ้าปูพระแท่นบรรทมและผ้าเช็ดหน้าผู้ชายที่มีคราบน้ำอสุจิ เมื่อหลักฐานครบถ้วน พระนางทรงวางแผนเชิญชวนคนชั้นสูงมาร่วมก่อการ หนึ่งในนั้นคือ เคานท์ซัค คาร์ล แรนต์เซา สหายของสตรูเอนซี ซึ่งโกรธแค้นเขาเนื่องจากถูกมองข้ามความสำคัญ โดยกำหนดเอาเช้าตรู่วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2315 เป็นวันก่อการ [16]

ในคืนวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2315 เป็นวันจัดงานเต้นรำสวมหน้ากากในราชสำนัก เมื่อพระเจ้าคริสเตียนกลับเข้าสู่ห้องบรรทมแล้ว ส่วนพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีเต้นรำจนถึงตีสาม พระนางมาทิลดาก็เสด็จกลับห้องพระนาง ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 17 มกราคม พระนางจูเลียนาทรงรีบสาวพระบาทไปยังห้องบรรทมของพระเจ้าคริสเตียน พระนางแจ้งว่าจะเกิดการปฏิวัติและให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งจับกุมพระราชินีมาทิลดาและสตรูเอนซี แม้พระเจ้าคริสเตียนทรงไม่ยินยอมแต่พระนางจูเลียนาได้บีบบังคับให้ทรงลงพระปรมาภิไธยได้ พระนางได้กุมตัวกษัตริย์ซึ่งถือว่าทรงได้อำนาจมาไว้ในพระหัตถ์แล้ว ทหารได้บุกเข้าไปจับกุมตัวสตรูเอนซีในห้องและล่ามโซ่เขาในคุก[17]. และในเวลา 04.30 นาฬิกา เคานต์แรนต์เซาได้นำทหารไปเชิญพระราชินีมาทิลดาเพื่อไปจองจำ และเมื่อทราบว่าสตรูเอนซีถูกจับกุมไปแล้วและมีทหารหลายนายมายืนอยู่หน้าห้องบรรทม พระนางตรัสว่า "ข้าถูกหักหลังเสียแล้ว จบกัน! แต่ก็ปล่อยให้พวกเขาเข้ามาเถอะ ไอ้พวกทรยศ! ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรข้าก็พร้อมแล้ว"[18]. เคานท์แรนต์เซาได้ทูลขอร้องให้พระราชินีทรงทำตามรับสั่งของพระเจ้าคริสเตียน พระนางตรัสตอบว่า "พระองค์ต้องไม่รู้เรื่องอะไรพวกนี้แน่ๆ เพราะความชั่วช้าของท่าน ท่านอาศัยพระอาการวิกลจริตให้เป็นประโยชน์ ไม่มีทาง...ในฐานะของราชินี ข้าจะไม่มีวันเชื่อฟังคำสั่งเช่นนี้เด็ดขาด!" เคานท์แรนต์เซาจึงสั่งทหารเข้าจับกุม พระนางทรงพยายามขัดขืนตลอดทางจนถึงห้องคุมขัง

พระนางจูเลียนาทรงอนุญาตให้นำ เจ้าหญิงหลุยส์ ออกุสตาตามพระมารดาไปในคุกด้วยเนื่องจากทรงยังไม่หย่านม พระนางมาทิลดาทรงถูกนำไปคุมขังที่ปราสาทโครนเบอร์ก ป้อมปราการที่ปกคลุมไปด้วยหมอกทึบและวิญญาณสิงสู่ ซึ่งวิลเลียม เชคสเปียร์เคยใช้เป็นฉากในละครเรื่อง แฮมเล็ต พระนางจูเลียนาทรงจัดให้พระนางมาทิลดาประทับในห้องบนสุดที่ไม่มีเตาผิงและสกปรก ในห้องมีเพียงเตียงและม้านั่งเล็กๆ ไม่มีเตาผิงและบานเกร็ด มีโต๊ะสำหรับคุกเข่าสวดมนต์บูชา ในระหว่างคุมขัง พระนางตรัสถามสภาพความเป็นอยู่ของสตรูเอนซีกับนางพระกำนัล นางพระกำนัลคนนั้นได้ลอบจดบันทึกความเป็นห่วงเป็นใยของราชินีต่อชู้รักส่งไปให้พระพันปีหลวงเพื่อใช้เป็นหลักฐาน

ต่อมาด้วยความกลัวจักรวรรดิอังกฤษ ยกทัพมาเดนมาร์ก จึงจัดให้ประทับที่ห้องชุดที่ดีกว่าเดิม และจัดให้เสวยพระกระยาหารที่ดีขึ้นกว่าเดิม และอนุญาตให้เสด็จในอุทยานได้ แต่มีเสียงแสดงความไม่พอใจของพสกนิกรชาวอังกฤษที่โกรธแค้น พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงทราบดีว่าพระขนิษฐาคบชู้จึงปิเสธที่จะช่วยเหลือ และจะไม่เข้าไปก้าวก่ายกับการลงโทษพระขนิษฐาที่สมควรได้รับเป็นอย่างยิ่งกับสิ่งที่ทรงกระทำลงไป พระองค์ทรงเพิกเฉยต่อคำวิงวอนอย่างน่าสะเทือนใจ และทรงเผาจดหมายของพระนางมาทิลดาทิ้ง ชาร์ลอตต์แห่งเม็คเคล็นเบิร์ก-สเตรลิตซ์ สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร พระมเหสีของพระองค์ทรงประกาศไม่ขอข้องเกี่ยวเพราะละอายพระทัยในพฤติกรรมพระขนิษฐาของพระสวามี หลังจากรู้ข่าวว่า พระธิดาถูกจับอย่างน่าอัปยศ เจ้าหญิงออกัสตา พระมารดาซึ่งกำลังประชวร ทรงประกาศเช่นกันว่า ไม่ประสงค์ให้ผู้ใดเอ่ยพระนามพระนางมาทิลดาอีก พระองค์ตรัสว่า "ข้าไม่มีอะไรต้องพูด ไม่มีอะไรต้องทำ ไม่มีอะไรต้องห่วง" จากนั้นก็สิ้นพระชนม์[19]

การจับกุมสตรูเอนซีในห้องพัก

ในระหว่างการสอบสวน สตรูเอนซีปฏิเสธความสัมพันธ์ที่ผิดทำนองคลองธรรมกับราชินีโดยตลอด แม้จะใช้การทรมานเพื่อข่มขู่ พระพันปีหลวงจูเลียนาจึวางแผนโกหกเขา โดยบอกว่าพระนางมาทิลดาได้สารภาพแล้วว่าตนคบชู้ เขาเสียใจอย่างมาก ยกมือปิดหน้าและร้องไห้ คณะผู้ไต่สวนได้ยินเสียงสะอื้นของเขาว่า "คนที่ข้ารักมากที่สุดในโลก...นี่ข้าทำอะไรลงไป...อัปยศ...น่าละอาย"[20] เขาอ่านคำสารภาพอย่างเศร้าหมองว่า "เป็นเรื่องจริง เราเริ่มมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกันในฤดูใบไม้ผลิปี 1770 และความสัมพันธ์นั้นก็ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่นั้น" แล้วเขาก็เริ่มแจกแจงรายละเอียดเดกี่ยวกับความสัมพันธ์ เขากล่าวว่า "ข้าขอสารภาพผิดตามข้อกล่าวหา และข้ายินดีรับโทษทัณฑ์ทุกประการ หากมันจะทำให้พระราชินีและมิตรสหายของข้าได้รับการอภัยโทษ"[21].

ต่อมา คณะผู้ไต่สวนพร้อมคำสารภาพของสตรูเอนซีได้ไปโครนเบอร์ก และบอกพระนางว่า สตรูเอนซีได้สารภาพแล้ว พระนางทรงตกพระทัยอย่างยิ่งและปฏิเสธที่จะเป็นความจริง เมื่อทรงทราบว่าเขาถูกตัดสินประหารชีวิต พระองค์จึงเป็นลมล้มฟุบไปทันที เมื่อทรงฟื้น พระนางทรงตัสถามว่า ถ้าทรงสารภาพแล้วจะไว้ชีวิตเขาหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบตกลง พระนางจึงลงนามในเอกสารสารภาพความผิดของพระนางโดยทรงไม่รู้ว่าเป็นกลอุบายของพระพันปีหลวง

พระนางมาทิลดาทรงถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงและให้หย่าขาดกับพระเจ้าคริสเตียน โดยประกาศชัดว่า ราชินีคบชู้แต่กลับมีการยืนยันสถานภาพของพระโอรสและพระธิดาว่าเป็นบุตรโดยชอบธรรมของกษัตริย์ และสตรูเอนซีได้ถูกตัดสินประหารชีวิต ทำให้พระนางทรงสั่นสะท้านและเริ่มกันแสง ตรัสว่า "บอกเขาด้วยว่าข้าอโหสีให้กับความผิดที่ทำไว้กับข้า"

พระเจ้าคริสเตียนทรงขัดเคืองพระทัยกับการอบรมชี้แนะของพระมารดาเลี้ยง ทรงแข็งข้อต่อพระนางขึ้นเรื่อยๆ มีรับสั่งถามพระนางจูเลียนาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพระนางมาทิลดา ทำให้จูเลียนาทรงรำคาญพระทัยมากแต่พระนางก็ทรงไม่บอก ครั้งหนึ่งพระเจ้าคริสเตียนทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารทรงเขียนว่า "คริสเตียนที่ 7 กษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ข้ารับใช้ของพระเป็นเจ้า ร่วมกับ จูเลียนา มาเรีย ข้ารับใช้ของปีศาจ"[22]

สตรูเอนซีถูกตัดสินประหารชีวิตพร้อมกับเคานท์เอเนอโวลด์ แบรนดท์ ผู้ให้การสนับสนุนสตรูเอนซี ด้วยความผิดฐานกบฏ การประหารชีวิตกำหนดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2315 ในวันนั้นพระนางจูเลียนาบังคับให้พระเจ้าคริสเตียนและพระบรมวงศานุวงศ์ไปชมละครโอเปราและงานเลี้ยง แท่นประหารถูกสร้างให้สูงจากพื้น 27 ฟุต เพื่อให้พระพนางจูเลียนาทอดพระเนตรด้วยกล้องส่องทางไกลได้สะดวกจากหอสูงของพระราชวังคริสเตียนเบอร์ก พระนางทรงมีรับสั่งกับนางกำนัลว่า "ข้าชอบห้องพวกนี้มาก ชอบยิ่งกว่าห้องชุดหรูหราของข้าเสียอีก เพราะจากหน้าต่างแห่งนี้ ข้าเคยได้เห็นซากที่เหลือของศัตรูที่ข้าเกลียดชังที่สุดอย่างถนัดตา"[23]

การประหารชีวิตโจฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซี ซึ่งสร้างความโทมนัสแก่พระนางมาทิลดามาก

สตรูเอนซีเดินขึ้นลานประหาร หลังจากการประหารแบรนดท์แล้ว "ทีนี้ถึงศัตรูรายสำคัญแล้ว" พระนางตรัสกับนางกำนัลอย่างปิติ[24] สตรูเอนซีคุกเข่าลงบนกองเลือดแล้ววางมือด้านขวาที่นำความแปดเปื้อนมาสู่ราชินี เพชรฆาตสับมือข้างนั้นขาดกระเด็น สตรูเอนซีลุกขึ้นบิดตัวเร่า เลือดพุ่งกระฉูดออกจากข้อมือที่กุด ผู้ช่วยเพชรฆาตจำเป็นต้องกดศีรษะเขาแนบกับขอนไม้และในที่สึดดาบฟันลงมา ศีรษะสตรูเอนซีขาดกระเด็น พระนางจูเลียนาร้องอย่างปิติ จากนั้นทรงบอกกับพระสหายว่า เรื่องเดียวที่ทรงเสียพระทัยที่สุดคือเรื่องที่ทรงไม่ได้เห็นพระนางมาทิลดา ผู้เป็นพระสุนิสาไม่ได้ขึ้นแท่นประหารแบบคนอื่น และพระนางไม่ได้เห็นพระหัตถ์และพระเศียรมาทิลดาหลุดออกจากร่าง ไม่ได้เห็นซากศพราชินีแห่งเดนมาร์กถูกกรีดจากพระศอจนถึงพระอุรุ ไม่ได้เห็นอวัยวะภายในถูกล้วงออกมาตอกติดกับล้อรถ ไม่ได้เห็นแขนขาถูกตัดออกมาตอกกับอวัยวะภายใน ไม่ได้เห็นพระเศียรถูกเสียบปลายไม้ทิ้งให้เน่าเปื่อยกลางทุ่งท้ายเมือง ตรัสต่อไปว่า ภาพเหล่านั้นจะทำให้พระนางมีความสุขที่สุดในพระชนม์ชีพ"[25] เมื่อพระนางมาทิลดาทรงทราบข่าวการประหารสตรูเอนซี พระองค์ถึงกับเป็นลม หมดสติ

เมื่อศีรษะสตรูเอนซีหลุดออกจากบ่า เขาได้กลายเป็นนักบุญผู้พลีชีพในสายตาชาวเดนมาร์ก ส่วนสมเด็จพระพันปีหลวงกลับกลายเป็นจอมเผด็จการที่ชาวเดนมาร์กเกลียดชัง พระนางได้ยกเลิกกฎหมายที่สตรูเอนซีบัญญัติขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบในถนนหลายสายของโคเปนเฮเกน พระนางจูเลียนาจำต้องนำกฎหมายบางอย่างของสตรูเอนซีกลับมาใช้อีกครั้ง เมื่อพระเจ้าคริสเตียนทรงทราบการประหารพระองค์ทรงเศร้าโศกมากและตรัสขอพบพระนางมาทิลดา เนื่องจากยังเป็นพระมเหสีอยู่ เมื่อพระนางมาทิลดาทราบข่าวการประหารพระองค์ทรงเป็นลมล้มฟุบทันที มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนตามถนนต้องการให้ พระนางมาทิลดาขึ้นสำเร็จราชการแทนพระนางจูเลียนาจนเป็นการจลาจลอีกครั้ง พระนางจูเลียนาจึงเนรเทศพระสุนิสาออกจากแผ่นดินเดนมาร์กเสีย

ใกล้เคียง

แคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่ แคโรไลน์ อเมลีแห่งออกัสเตนบวร์ค แคโรไลน์ น็อกซ์ แคโรไลนา (ชื่อ) แคโรไลน์แห่งเบราน์ชไวก์ สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร แคโรไลน์แห่งอันสบาค สมเด็จพระราชินีแห่งบริเตนใหญ่ แคโรไลน์ ออกัสตา แห่งบาวาเรีย แคโรลีน เบอร์ทอซซี แอโรไวรอนเมนต์ อาร์คิว-11 เรฟเวน แคโรทีนอยด์